โรคสะเก็ดเงิน เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานผิดพลาด

โรคสะเก็ดเงิน เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่เกิดจากการแบ่งตัวผิดปกติของเซลล์ผิวหนังอย่างรวดเร็วกว่าปกติโดยการกระตุ้นของสารเคมีจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เรียกว่า ลิมโฟไซต์ ชนิดเซลล์ที (T-cell) ทำให้เกิดการอักเสบจนเกิดเป็นผื่นหนาขนาดใหญ่ มีลักษณะสีเงินและแดงที่ผิวหนังได้ทั่วร่างกาย โรคนี้สามารถเกิดได้ในคนทุกเพศทุกวัย

หากจำแนกตามประเภทของโรคพบว่ามีอยู่หลายชนิด แต่ที่พบได้บ่อยมีดังนี้
– โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นหนาหรือปื้นหนา (Plaque Psoriasis/Psoriasis Vulgaris) เป็นชนิดที่พบมากที่สุดประมาณ 80% บริเวณผิวหนังจะมีลักษณะเป็นผื่นแดงหนาคลุมด้วยสีเงิน ส่วนใหญ่มักเกิดกับผิวบริเวณข้อศอก หัวเข่า และหนังศีรษะ
– โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นขนาดเล็ก (Guttate Psoriasis) เป็นชนิดที่มักเกิดกับเด็กและวัยรุ่นเป็นส่วนใหญ่ โดยพบได้ประมาณ 10% ของโรคสะเก็ดเงินที่เกิดกับผู้ป่วย ลักษณะผิวหนังจะเป็นจุดสีชมพูขนาดเล็ก และอาจกลายเป็นผื่นหนาสีแดงได้เหมือนกับชนิดผื่นหนา สามารถเกิดได้บ่อยที่แขน ขา หรือตามลำตัว
– โรคสะเก็ดเงินชนิดที่มีตุ่มหนอง (Pustular Psoriasis) เป็นชนิดที่เกิดได้มากในวัยผู้ใหญ่ บริเวณผิวหนังมีตุ่มหนองสีขาวกระจายเป็นวงกว้างและเกิดการอักเสบจนแดง มักพบมากตามแขนขา อาจเกิดการแพร่กระจายไปทั่วลำตัวได้ บางรายอาจมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้ขึ้น รู้สึกคันตามผิวหนัง ไม่อยากอาหาร
– โรคสะเก็ดเงินชนิดเกิดตามข้อพับ (Inverse Psoriasis/Intertriginous Psoriasis) ผิวหนังเป็นผื่นแดง มีความเรียบและเงา มักเกิดขึ้นตามข้อพับและซอกต่าง ๆ ตามร่างกาย เช่น หน้าอก รักแร้ ขาหนีบ หรือรอบอวัยวะเพศ
– โรคสะเก็ดเงินชนิดผื่นแดงลอกทั่วตัว (Erythrodermic Psoriasis) เป็นชนิดที่รุนแรงและพบได้น้อย เพราะสามารถเกิดขึ้นได้ประมาณ 3% โดยผิวหนังจะเกิดผื่นแดงขนาดใหญ่และลอกอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกคันและเจ็บ

การวินิจฉัยโรคสะเก็ดเงิน
แพทย์จะสอบถามอาการ ประวัติการเจ็บป่วยของผู้ป่วยและบุคคลในครอบครัว รวมไปถึงสภาวะอื่น ๆ ของผู้ป่วย ก่อนมีการตรวจร่างกายและบริเวณผิวหนังที่เกิดความผิดปกติ เพื่อช่วยวินิจฉัยว่าผู้ป่วยเป็นโรคสะเก็ดเงินหรือโรคผิวหนังชนิดอื่นที่มีอาการคล้ายคลึงกัน แต่ในบางรายที่อาการไม่ชัดเจน แพทย์อาจมีการสั่งตรวจเพิ่มเติมโดยการเก็บตัวอย่างจากผิวหนังไปตรวจวิเคราะห์ด้วยกล้องจุลทรรศน์ในห้องปฏิบัติการ ส่วนในรายที่พบว่าเป็นโรคข้ออักเสบสะเก็ดเงิน ที่มีอาการปวดข้อร่วมด้วยอาจต้องมีการตรวจเลือดหรือเอกซเรย์ เพื่อหาชนิดของโรคไขข้อกระดูกอื่นเพิ่มเติม

การรักษาโรคสะเก็ดเงิน
โรคสะเก็ดเงินไม่สามารถรักษาได้หายขาด แต่การรักษาทำได้เพียงบรรเทาอาการให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น ลดการอักเสบและผิวหนังที่ตกสะเก็ด ชะลอการเติบโตของเซลล์ผิวหนัง และขจัดผิวหนังที่เป็นแผ่นแข็ง ซึ่งการรักษาสามารถทำได้หลายวิธี ผู้ป่วยที่มีอาการเพียงน้อยถึงปานกลางอาจรักษาด้วยการใช้ยาทาภายนอก ส่วนในรายที่มีอาการปานกลางไปจนถึงรุนแรง แพทย์อาจรักษาด้วยการใช้ยารับประทาน ยาฉีดเข้าเส้น หรือการฉายแสงด้วยรังสีอัลตราไวโอเลต การรักษาอาจใช้หลายวิธีควบคู่กันหรือเพียงวิธีเดียว เพื่อช่วยให้อาการดีขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยควรมีการดูแลเรื่องการรับประทานอาหาร ระมัดระวังการรับประทานวิตามินเสริม หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ รวมไปถึงลดน้ำหนักลงให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยกระตุ้นให้โรคกำเริบขึ้นมาได้

สะเก็ดเงิน เกิดจากปัญหาผิวหนังอ่อนแอ

ผู้ป่วยที่เป็นโรคสะเก็ดเงิน อาจจะมีโรคอื่น ๆ ร่วมที่ป้องกันได้ เช่น ข้อเสื่อม ข้ออักเสบ โดยโรคข้อนั้นมีความเกี่ยวข้องกับโรคผิวหนัง นอกจากนั้นยังมีโรคอ้วนที่มีความเกี่ยวข้องด้วย บางครั้งโรคอ้วนอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เป็นสะเก็ดเงินได้ เพราะว่าสารที่ทำให้เป็นโรคสะเก็ดเงินส่วนหนึ่งสร้างมาจากไขมัน นอกจากนั้นโรคอ้วนยังส่งผลทำให้เกิดโรคหัวใจและโรคอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย ผู้ป่วยสะเก็ดเงินที่มีโรคอ้วนเมื่อลดน้ำหนักลงไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด ก็จะสามารถรักษาสะเก็ดเงินให้หายได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ผู้ที่มีน้ำหนักตัวน้อยจะคุมโรคสะเก็ดเงินได้ดีกว่า โรคสะเก็ดเงินนั้นนอกจากจะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของความอ้วน กรรมพันธุ์ สิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีผลมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ หรือการทานยาบางตัว เป็นตัวกระตุ้นให้คุมสะเก็ดเงินได้ยากมากขึ้น ในกรณีที่เป็นผู้ป่วยอยู่แล้วต้องพึงระวังให้มาก หากวิถีชีวิตประจำวัน ต้องใช้ชีวิตกับความเครียด การอดนอน ก็จะเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้เกิดสะเก็ดเงินขึ้นมาได้

การรักษา โรคสะเก็ดเงิน มีหลากหลายวิธีขึ้นอยู่กับความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละคน ในกรณีที่ผื่นเป็นน้อย แพทย์มักพิจารณารักษาด้วยยาทาเฉพาะที่ เช่น ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ กลุ่ม วิตามินดี น้ำมันดิน กรณีที่ผื่นเป็นมาก กระจายทั่วร่างกาย อาจพิจารณารักษาด้วยการฉายแสงอัลตราไวโอเลต 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ต่อเนื่องกัน หลายๆสัปดาห์ หรือเป็นเดือน ผลการรักษาค่อนข้างดี ผลข้างเคียงน้อยหรือถ้าผู้ป่วยไม่สะดวกมาฉายแสงอัลตราไวโอเลต ที่โรงพยาบาล อาจพิจารณารักษาด้วยยารับประทาน เช่น ยา Methotrexate Acitretin และ Cyclosporine เป็นต้น ยาเหล่านี้ ผลการรักษาค่อนข้างดีเช่นกัน แต่มีผลข้างเคียง ผู้ป่วยจึงต้องมาพบแพทย์เป็นระยะ มีการเจาะเลือดเพื่อเฝ้าระวังผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ในรายที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยารับประทานหรือการฉายแสงอัลตราไวโอเลต อาจพิจารณารักษาด้วยยาฉีดในกลุ่ม Biologics ซึ่งในปัจจุบันผลการรักษาดีมาก แต่มีราคาแพง การรักษาหรือดูแลโรคสะเก็ดเงิน หากพูดถึงเรื่องยา จะดูตามความมากน้อยของผื่น อย่างไรก็ดีสะเก็ดเงินยังไม่ใช่โรคที่รักษาให้หายขาดได้

เนื่องจากเป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งจึงพยายามรักษาด้วยการแพทย์ทางเลือก เช่นยาไทย ยาจีน ทั้งนี้ถ้าหากใช้สมุนไพร ควรจะต้องทราบถึงที่มาที่ไป สามารถลองทาเพื่อรักษาให้ผื่นดีขึ้นได้ แต่ในการใช้ยารับประทานในบางกรณีการลองยาอาจ เกิดตับอักเสบ หรือ ทานยาแล้ว ผื่นขึ้นมาหนักกว่าเดิมบ้างจึงควรระวังอย่างยิ่ง สิ่งสำคัญจะต้องมีการศึกษา เพื่อหายาที่มีทั้งประสิทธิภาพ และ ลดผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น มีการตรวจติดตามผลของการใช้ยาให้มีความเหมาะสมกับขนาดของโรค

ผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินต้องมีความเข้าใจในตัวโรคสะเก็ดเงิน มองโลกในแง่บวก และปรับตัวอยู่กับโรคสะเก็ดเงินได้อย่างมีความสุข คนในครอบครัวและสังคมรอบข้างต้อง ให้รอยยิ้ม ให้กำลังใจผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยมีอาชีพ มีงานทำ เพราะ สะเก็ดเงินไม่ใช่โรคร้าย ผู้ป่วยอยู่ได้ด้วยความเข้าใจ